Saturday, December 15, 2007

ปัจจัยชี้ขาดธุรกิจดาวรุ่ง และทิศทางนโยบายการคลังใน 20-30 ปีข้างหน้า

    ผมจะพยายามตอบคำถามสองคำถามที่เป็นคำถามระยะยาว ซึ่งบางคนอาจจะไม่ให้ความสนใจเลย แต่หากได้อ่านคำตอบแล้วผมมีความมั่นใจว่า คนเหล่านั้นจะเริ่มกลับมาเห็นความสำคัญของสองคำถามนี้ทันที

คำถามแรก : ได้แก่เราควรจะทำธุรกิจอะไรในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ที่คาดว่าจะโดนใจผู้บริโภคและเป็นธุรกิจดาวรุ่งตามโมเดล บอสตัน ที่ท่านนายกทักษิณได้พูดไว้ในหลายโอกาส หลายวาระ

คำถามที่สอง ได้แก่ ทิศทางของการดำเนินนโยบายการคลังในอีก 20-30 ปีข้างหน้า จะถูกกำหนดโดยปัจจัยอะไรที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกรัฐบาลต้องคำนึงถึงและห้ามลืมเป็น อันขาด

 

        เนื่องจากคำถามทั้งสองคำถามเป็นคำถามที่มีมิติด้านเวลาที่ยาวมากมาเกี่ยวข้อง ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องก็น่าจะเป็นปัจจัยที่มีมิติระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน การตอบสองคำถามข้างต้นจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือโฉมหน้าของเศรษฐกิจและสังคมที่มีแนวโน้มว่าคงจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก และจะเป็นปัจจัยที่กำหนดว่าธุรกิจใดน่าจะเป็นธุรกิจที่จะมีการเติบโตและมีส่วนแบ่งของตลาดสูงในอีก 20-30 ปีข้างหน้า อีกทั้งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้หรือชุดหน้าต้องเข้ามาจัดทัพมาตรการการคลังใหม่ เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อภาระและฐานะการคลังในอีก 20-30 ปีข้างหน้าด้วย

 

        ปัจจัยที่ผมต้องการเน้นเพื่อตอบคำถามสองคำถามข้างต้น ได้แก่ ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธว่า ปัจจุบันนี้คนเราทั่วโลกมีอายุยืนยาวมากขึ้น หรือ คนเราตายช้าลงนั่นเอง จากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) และของธนาคารพัฒนาเอเซีย พบว่า คนไทย โดยเฉพาะผู้หญิงจะมีอายุยืนยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 89 ปี ส่วนชายไทยโดยเฉลี่ยจะมีอายุยืนยาวประมาณ 85 ปี และการตายช้าลงหรือการมีอายุยืนยาวมากขึ้นจะผันแปรไปในทิศทางเดียวกันกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้น รวมทั้งการสนใจและใส่ใจในสุขภาพของคนเรา หรือการไม่อยากหรือกลัวตายของคนเรามากขึ้น

 

        นอกจากคนทั่วโลกจะตายช้าลงแล้ว คนทั่วโลกในประเทศต่างๆ ก็ยังมีอัตราการเกิดของเด็กทารกต่ำอีกด้วย ซึ่งในประเทศไทย ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน ครอบครัวที่มีขนาดใหญ่ในสมัยปู่ ย่า ตา ยาย ของเราได้หดตัวมาเป็นครอบครัวที่มีลูกหนึ่งหรือลูกสองคนเป็นอย่างมากเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้เราคงคาดเดาได้อย่างแม่นยำว่า สังคมต่อไปในอีก 20-30 ปีข้างหน้าจะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยคนสูงอายุหรือคนชรามากขึ้น โดยคนที่อยู่ในวัยแรงงานจะมีสัดส่วนลดลง

 

        เมื่อท่านผู้อ่านได้เห็นโฉมหน้าของสังคมในอีก 20-30 ปีข้างหน้าแล้วว่าจะเป็นสังคมสีเทาและศีรษะเหน่งจำนวนมากแล้ว หากท่านเป็นนักธุรกิจที่ชาญฉลาดด้านการตลาด ท่านคงนึกถึงคำตอบของคำถามที่หนึ่งได้แล้วว่าธุรกิจอะไรในอีก 20-30 ปีข้างหน้าจะเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตและมีส่วนแบ่งตลาดสูง (high growth and high market share – star business)

 

        ผมขอใช้ความรู้ด้านการตลาดที่มีน้อยนิดสรุปฟันธงให้ท่านฟังว่า ในอีก 20-30 ปีข้างหน้ามีประเภทของธุรกิจอยู่ 3 ประเภทที่น่าจะเป็นหรือจะยังเป็น star businesses อยู่ ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่โดนใจกลุ่มคนสูงอายุและคนชรา

 

        ธุรกิจสามประเภทดังกล่าว ได้แก่

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความกินดีอยู่ดี(customer well-being/wellness)

ธุรกิจด้านการรักษาและบำรุงสุขภาพ

ธุรกิจที่ดูแลและบริหารความมั่งคั่ง(healthcare/wealthcare)                   

 

 ซึ่งได้แก่ธุรกิจด้านโรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพ และบริการด้านบริหารการเงินเพื่อคนสูงอายุ

 

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อและบันเทิง(media and entertainment) ซึ่งได้แก่ธุรกิจด้านการเพิ่มความสุขและสุนทรียภาพต่างๆ ทั้งด้านการอ่าน การดู การฟัง และความท้าทายและความตื่นเต้นเร้าใจ(customer engagement) และ

ธุรกิจด้านการต้อนรับขับสู้และการบริการด้วยจิตใจที่ดี(hospitality services) ซึ่งได้แก่ธุรกิจด้านโรงแรม สปา ร้านอาหาร และบริการด้านการท่องเที่ยว ดังนั้นถ้าท่านใดยังไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจอะไรดีเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ก็ขอให้พิจารณาเลือกเอาตามใจชอบครับ

 

        คราวนี้กลับมาตอบคำถามที่สองว่า ปัจจัยด้านคนชรากระทบอะไรกับภาระและฐานะทาง การคลัง ผมรับประกันเลยว่า ในอีก 20-30 ปีข้างหน้ารัฐบาลสมัยนั้นจะมีปัญหาด้านการคลังในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ต้องนำมาใช้เพื่อดูแลให้คนไทยปัจจุบันที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจำนวนมากในอนาคตสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสภาพที่ควรจะได้รับการดูแลด้านอาหาร ยารักษาโรคและเครื่องนุ่งห่ม

 

        ที่ผมสรุปเช่นนั้นก็เพราะว่า จากตัวเลขปัจจุบันที่ศึกษาโดย สศค. พบว่า ปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่เกิน 20 ล้านคนที่มีหลักประกันรายได้เพียงพอต่อการยังชีพเมื่อยามชราหรือเกษียณอายุ คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อยู่ในระบบกองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุน Retirement Mutual Fund (RMF) เป็นต้น ดังนั้นคนไทยปัจจุบันจำนวนเกินครึ่งที่ไม่มีหลักประกันรายได้เพียงพอต่อการยังชีพเมื่อยามชรา ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงและคาดว่าจะเป็นภาระอย่างใหญ่หลวงต่อรัฐบาลในอีก 20-30 ปีข้างหน้า

 

        กลุ่มคนที่น่าห่วงที่สุดได้แก่กลุ่มคนที่หาเช้ากินค่ำ มีรายได้ไม่คงที่ เช่น กลุ่มคนงานก่อสร้างและกลุ่มแรงงานที่เป็นนายจ้างตัวเองแต่มีกระแสรายรับต่ำ ได้แก่ คนขับรถรับจ้าง คนขายส้มตำ คนซ่อมนาฬิกา คนซ่อมรองเท้า วินมอเตอร์ไซด์ และเกษตรกร เป็นต้น

 

        เมื่อเห็นตรงกันว่าในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ปัญหาคนสูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพจะเป็นปัญหาใหญ่หลวงทางการคลัง ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งเข้ามาจัดการกับปัญหาของอนาคต ซึ่งต้องไม่ใช่ไปจัดการตอนใกล้ 20 ปี การจัดการปัญหายิ่งช้าเท่าไหร่ ก็จะยิ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จได้เท่านั้น

 

        รัฐบาลต้องเริ่มโจมตีปัญหานี้นับตั้งแต่บัดนี้ ต้องรีบสนับสนุนการออกมาตรการและแนวทางในการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญของประเทศแบบบูรณาการครั้งใหญ่ตั้งแต่วินาทีนี้ ก่อนที่จะสายเกินไป เพราะจากประสบการณ์ในต่างประเทศ การปฏิรูปในเรื่องดังกล่าว เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา และเป็นกระบวนการที่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้นด้วย ดังนั้นรัฐบาลต้องรีบตื่นขึ้นมาดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วนด้วยเถอะครับ

No comments: