Wednesday, November 28, 2007

เกษียณ 55 ปี ออมเพื่อหลังเกษียณ 35 ปี อายุยืนยาวขึ้นเฉลี่ยที่ 80-90 ปี

ประชากรผู้สูงอายุของประเทศจะมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากคุณภาพด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้นเฉลี่ยที่ 80-90 ปี ขณะเดียวกัน คนที่ทำงานอยู่จะเกษียณจากงานเร็วขึ้นจากเดิม 60 ปี แต่ปัจจุบันพบว่าบริษัทเอกชนหลายแห่งมีการเกษียณอายุการทำงานอยู่ที่ 55 ปีเท่านั้น เท่ากับแต่ละบุคคลจะต้องมีเงินออม เพื่อใช้ในการเกษียณเป็นเวลานานถึง 35 ปี ทำให้การเพิ่มสัดส่วนเงินออมหลังเกษียณมีความจำเป็นมากขึ้น

Sunday, November 18, 2007

TDRI จี้รัฐรับมือคนสูงวัยเพิ่ม วัยทำงานลด

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 6 พฤศจิกายน 2550 07:05 น.
       "ทีดีอาร์ไอ" ระบุ จำนวนประชากรของไทยมีแนวโน้มลดลง แต่ปัจจัยเสี่ยงคืออนาคตคนในวัยชราจะเพิ่มสูงขึ้นมาก จนเป็นภาระหนักที่รัฐบาลต้องจัดสวัสดิการเพื่อแบกรับปัญหาที่เพิ่มขึ้น ห่วงปัญหาประชากรวัยวัยแรงงานน้อยเกินไป แนะสร้างสวัสดิการเพื่อจูงใจให้คนมีบุตร โดยเข้ามารับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาแทนผู้ปกครอง
       
       นางมัทนา พนานิรามัย นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอบทความเรื่อง "การเปลี่ยนแปลงในวิธีการปิดงบขาดดุลรายได้ของคนไทยและนัยต่อการเข้าสู่รัฐสวัสดิการ" โดยระบุว่า ในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางประชากร (Demographic Transition) จากช่วงเวลาที่ทั้งอัตราการเกิดและอัตราการตายสูง เข้าสู่สถานการณ์ที่ทั้งอัตราการเกิดและอัตราการตายอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
       
       ทั้งนี้ จากข้อมูลประชากรของประเทศไทยบ่งชี้ว่าหากในอัตราการเกิดยังไม่เปลี่ยนทิศทาง แนวโน้มจำนวนประชากรของไทยจะมีโอกาสลดลงในระยะยาว โดยมีสัดส่วนของประชากรวัยเด็กและผู้สูงอายุค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรในวัยแรงงาน จึงเป็นโอกาสทองที่จะทำให้การบริโภคเฉลี่ยของคนไทยสามารถเพิ่มได้เร็วกว่าการเพิ่มของผลิตภาพแรงงาน
       
       แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าประเทศไทยกลับมีความเสี่ยงที่ประชากรจะไม่สามารถทดแทนตนเองได้ในอนาคต หมายความว่ามีโอกาสที่จะขาดแคลนประชากรในวัยแรงงาน เพราะมีอัตราการเกิดน้อยเกินไป ในหลายประเทศแก้ไขปัญหาการลดลงของประชากร โดยเพิ่มแรงจูงใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยการลดภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ลง โดยเฉพาะรายจ่ายในด้านการศึกษา ซึ่งการที่ภาครัฐเข้ามาร่วมแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจะเป็นการจูงใจให้มีการเกิดเพิ่มสูงขึ้น
       
       ผู้วิจัยระบุต่อว่า หลังจากเวลาผ่านไปอีกระยะหนึ่ง ประเทศไทยจะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือสัดส่วนของประชากรวัยพึ่งพิงจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรวัยสูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เมื่อถึงเวลานั้น การบริโภคคงจะเพิ่มได้ไม่มากไปกว่าการเพิ่มของผลิตภาพแรงงานทำให้ต้องเป็นภาระกับคนวัยทำงานเพิ่มขึ้นๆ
       
       ปัญหาที่ตามมาอาจปรากฏในรูปของความไม่มั่นคงของกองทุนชราภาพในอนาคต ซึ่งภาครัฐจะต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริการสุขภาพที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการที่มีประชากรวัยชราเพิ่มขึ้นจะทำให้เป็นภาระของครอบครัวที่จะต้องสละเวลาเพื่อเข้ามาเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุมากขึ้นด้วย
       
       แต่ในปัจจุบันโครงการประกันชราภาพยังไม่สมบูรณ์ โครงการประเภทสงเคราะห์หรือการโอนเงินจากคนกลุ่มหนึ่งไปให้คนอีกกลุ่มหนึ่งจึงมีความจำเป็นเนื่องจากประเทศไทยยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่รายได้ตลอดชีวิตต่ำกว่ารายจ่ายที่จำเป็นต้องบริโภคตลอดชีวิต
       
       กล่าวโดยสรุป ภาครัฐจำเป็นต้องจัดสวัสดิการให้กับสังคม แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่ให้ในรูปของเงินเสมอไป การดำเนินการอาจทำในรูปของการจัดการศึกษาให้แก่ประชากรเด็กและวัยรุ่น ส่วนประชากรในวัยสูงอายุ รัฐอาจพิจารณาให้ในรูปของบริการที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ เช่น การจัดให้มีระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long-term care) หรือสร้างกฎระเบียบที่จำเป็นเพื่อส่งเสริมให้เกิดตลาดการซื้อขายบริการที่จำเป็นสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอุปสงค์ต่อบริการเหล่านั้น เป็นต้น