Saturday, December 15, 2007

ปัจจัยชี้ขาดธุรกิจดาวรุ่ง และทิศทางนโยบายการคลังใน 20-30 ปีข้างหน้า

    ผมจะพยายามตอบคำถามสองคำถามที่เป็นคำถามระยะยาว ซึ่งบางคนอาจจะไม่ให้ความสนใจเลย แต่หากได้อ่านคำตอบแล้วผมมีความมั่นใจว่า คนเหล่านั้นจะเริ่มกลับมาเห็นความสำคัญของสองคำถามนี้ทันที

คำถามแรก : ได้แก่เราควรจะทำธุรกิจอะไรในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ที่คาดว่าจะโดนใจผู้บริโภคและเป็นธุรกิจดาวรุ่งตามโมเดล บอสตัน ที่ท่านนายกทักษิณได้พูดไว้ในหลายโอกาส หลายวาระ

คำถามที่สอง ได้แก่ ทิศทางของการดำเนินนโยบายการคลังในอีก 20-30 ปีข้างหน้า จะถูกกำหนดโดยปัจจัยอะไรที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกรัฐบาลต้องคำนึงถึงและห้ามลืมเป็น อันขาด

 

        เนื่องจากคำถามทั้งสองคำถามเป็นคำถามที่มีมิติด้านเวลาที่ยาวมากมาเกี่ยวข้อง ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องก็น่าจะเป็นปัจจัยที่มีมิติระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน การตอบสองคำถามข้างต้นจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหรือโฉมหน้าของเศรษฐกิจและสังคมที่มีแนวโน้มว่าคงจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก และจะเป็นปัจจัยที่กำหนดว่าธุรกิจใดน่าจะเป็นธุรกิจที่จะมีการเติบโตและมีส่วนแบ่งของตลาดสูงในอีก 20-30 ปีข้างหน้า อีกทั้งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้รัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลชุดนี้หรือชุดหน้าต้องเข้ามาจัดทัพมาตรการการคลังใหม่ เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อภาระและฐานะการคลังในอีก 20-30 ปีข้างหน้าด้วย

 

        ปัจจัยที่ผมต้องการเน้นเพื่อตอบคำถามสองคำถามข้างต้น ได้แก่ ปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธว่า ปัจจุบันนี้คนเราทั่วโลกมีอายุยืนยาวมากขึ้น หรือ คนเราตายช้าลงนั่นเอง จากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) และของธนาคารพัฒนาเอเซีย พบว่า คนไทย โดยเฉพาะผู้หญิงจะมีอายุยืนยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 89 ปี ส่วนชายไทยโดยเฉลี่ยจะมีอายุยืนยาวประมาณ 85 ปี และการตายช้าลงหรือการมีอายุยืนยาวมากขึ้นจะผันแปรไปในทิศทางเดียวกันกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยขึ้น รวมทั้งการสนใจและใส่ใจในสุขภาพของคนเรา หรือการไม่อยากหรือกลัวตายของคนเรามากขึ้น

 

        นอกจากคนทั่วโลกจะตายช้าลงแล้ว คนทั่วโลกในประเทศต่างๆ ก็ยังมีอัตราการเกิดของเด็กทารกต่ำอีกด้วย ซึ่งในประเทศไทย ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน ครอบครัวที่มีขนาดใหญ่ในสมัยปู่ ย่า ตา ยาย ของเราได้หดตัวมาเป็นครอบครัวที่มีลูกหนึ่งหรือลูกสองคนเป็นอย่างมากเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้เราคงคาดเดาได้อย่างแม่นยำว่า สังคมต่อไปในอีก 20-30 ปีข้างหน้าจะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยคนสูงอายุหรือคนชรามากขึ้น โดยคนที่อยู่ในวัยแรงงานจะมีสัดส่วนลดลง

 

        เมื่อท่านผู้อ่านได้เห็นโฉมหน้าของสังคมในอีก 20-30 ปีข้างหน้าแล้วว่าจะเป็นสังคมสีเทาและศีรษะเหน่งจำนวนมากแล้ว หากท่านเป็นนักธุรกิจที่ชาญฉลาดด้านการตลาด ท่านคงนึกถึงคำตอบของคำถามที่หนึ่งได้แล้วว่าธุรกิจอะไรในอีก 20-30 ปีข้างหน้าจะเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตและมีส่วนแบ่งตลาดสูง (high growth and high market share – star business)

 

        ผมขอใช้ความรู้ด้านการตลาดที่มีน้อยนิดสรุปฟันธงให้ท่านฟังว่า ในอีก 20-30 ปีข้างหน้ามีประเภทของธุรกิจอยู่ 3 ประเภทที่น่าจะเป็นหรือจะยังเป็น star businesses อยู่ ซึ่งจะเป็นธุรกิจที่โดนใจกลุ่มคนสูงอายุและคนชรา

 

        ธุรกิจสามประเภทดังกล่าว ได้แก่

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความกินดีอยู่ดี(customer well-being/wellness)

ธุรกิจด้านการรักษาและบำรุงสุขภาพ

ธุรกิจที่ดูแลและบริหารความมั่งคั่ง(healthcare/wealthcare)                   

 

 ซึ่งได้แก่ธุรกิจด้านโรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพ และบริการด้านบริหารการเงินเพื่อคนสูงอายุ

 

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อและบันเทิง(media and entertainment) ซึ่งได้แก่ธุรกิจด้านการเพิ่มความสุขและสุนทรียภาพต่างๆ ทั้งด้านการอ่าน การดู การฟัง และความท้าทายและความตื่นเต้นเร้าใจ(customer engagement) และ

ธุรกิจด้านการต้อนรับขับสู้และการบริการด้วยจิตใจที่ดี(hospitality services) ซึ่งได้แก่ธุรกิจด้านโรงแรม สปา ร้านอาหาร และบริการด้านการท่องเที่ยว ดังนั้นถ้าท่านใดยังไม่รู้ว่าจะทำธุรกิจอะไรดีเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ก็ขอให้พิจารณาเลือกเอาตามใจชอบครับ

 

        คราวนี้กลับมาตอบคำถามที่สองว่า ปัจจัยด้านคนชรากระทบอะไรกับภาระและฐานะทาง การคลัง ผมรับประกันเลยว่า ในอีก 20-30 ปีข้างหน้ารัฐบาลสมัยนั้นจะมีปัญหาด้านการคลังในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ต้องนำมาใช้เพื่อดูแลให้คนไทยปัจจุบันที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจำนวนมากในอนาคตสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสภาพที่ควรจะได้รับการดูแลด้านอาหาร ยารักษาโรคและเครื่องนุ่งห่ม

 

        ที่ผมสรุปเช่นนั้นก็เพราะว่า จากตัวเลขปัจจุบันที่ศึกษาโดย สศค. พบว่า ปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่เกิน 20 ล้านคนที่มีหลักประกันรายได้เพียงพอต่อการยังชีพเมื่อยามชราหรือเกษียณอายุ คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อยู่ในระบบกองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุน Retirement Mutual Fund (RMF) เป็นต้น ดังนั้นคนไทยปัจจุบันจำนวนเกินครึ่งที่ไม่มีหลักประกันรายได้เพียงพอต่อการยังชีพเมื่อยามชรา ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงและคาดว่าจะเป็นภาระอย่างใหญ่หลวงต่อรัฐบาลในอีก 20-30 ปีข้างหน้า

 

        กลุ่มคนที่น่าห่วงที่สุดได้แก่กลุ่มคนที่หาเช้ากินค่ำ มีรายได้ไม่คงที่ เช่น กลุ่มคนงานก่อสร้างและกลุ่มแรงงานที่เป็นนายจ้างตัวเองแต่มีกระแสรายรับต่ำ ได้แก่ คนขับรถรับจ้าง คนขายส้มตำ คนซ่อมนาฬิกา คนซ่อมรองเท้า วินมอเตอร์ไซด์ และเกษตรกร เป็นต้น

 

        เมื่อเห็นตรงกันว่าในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ปัญหาคนสูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพจะเป็นปัญหาใหญ่หลวงทางการคลัง ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งเข้ามาจัดการกับปัญหาของอนาคต ซึ่งต้องไม่ใช่ไปจัดการตอนใกล้ 20 ปี การจัดการปัญหายิ่งช้าเท่าไหร่ ก็จะยิ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จได้เท่านั้น

 

        รัฐบาลต้องเริ่มโจมตีปัญหานี้นับตั้งแต่บัดนี้ ต้องรีบสนับสนุนการออกมาตรการและแนวทางในการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญของประเทศแบบบูรณาการครั้งใหญ่ตั้งแต่วินาทีนี้ ก่อนที่จะสายเกินไป เพราะจากประสบการณ์ในต่างประเทศ การปฏิรูปในเรื่องดังกล่าว เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา และเป็นกระบวนการที่มีความเจ็บปวดเกิดขึ้นด้วย ดังนั้นรัฐบาลต้องรีบตื่นขึ้นมาดำเนินการเรื่องนี้โดยด่วนด้วยเถอะครับ

ใครไม่อยาก "แก่" ฟังทางนี้

คอลัมน์ วาไรตี้ เฮลท์

 

ถึงเวลานี้ ใครๆ ก็ "กลัวแก่"

 

และเพราะกลัวแก่นี่แหละ จึงทำให้เกิดช่องทางการชะลอวัยได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งวิทยาการความก้าวหน้าแบบสวยด้วยแพทย์ สวยด้วยเครื่องประทินโฉม สวยด้วยวิตามินและยาบำรุงหลากหลาย สวยด้วยเครื่องมือเครื่องใช้ รวมไปถึงสวยด้วยวิธีการบริโภค

 

แม้จะมีวิทยาการที่ก้าวล้ำมาช่วยแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามการดูแลตัวเอง รักษาสมดุลให้กับร่างกาย ก็ยังเป็นวิธีที่ดีที่สุด คลาสสิกที่สุด ที่จะสามารถยืดเวลาที่กระบวนการทางธรรมชาติจะมาเยือนได้ดีที่สุดทางหนึ่ง และนี่เป็นบันได 3 ขั้น ในการปรับปรุงวิถีชีวิตให้ดีขึ้น เพื่อมุ่งสู่หนทางสว่างในการชะลอความชราที่จะมาเยือนได้

 

1.เลิกพฤติกรรมเสี่ยงทุกรูปแบบ

 

- บุหรี่ เพราะบุหรี่ 1 มวนจะมีสารพิษมากกว่า 350 ชนิด มีการพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่นอกจากจะแก่เร็วแล้ว ยังมีโอกาสที่เป็นหมันสูง สมรรถภาพทางเพศลด และมีแนวโน้มที่จะทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ

 

- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะในเครื่องดื่มประเภทนี้มีสารที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

 

- หลีกเลี่ยงแสงแดด เพราะการโดนโดยตรงอาจทำให้เกิดอาการแพ้ ผิวไหม้ หรือเป็นมะเร็งผิวหนังได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10.00-17.00 น.

 

2.กินให้เป็น

 

- รับประทานอาหารที่มีคุณภาพและอาหารที่แคลอรีต่ำ ประเภท ปลา ผัก ผลไม้ นอกจากจะทำให้ไม่อ้วนแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคทางระบบประสาท ความดันโลหิตสูงได้

 

- ลดอาหารประเภทแป้ง เพราะแป้งจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาล และหากน้ำตาลสูงเกินไปจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคร้าย

 

- เลี่ยงอาหารที่มีกรดไขมัน tran fatty acid สูง หรืออาหารประเภทมาการีน ขนมเค้ก ขนมปังขาว เพราะอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่ม

 

- ดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่พอเหมาะ พบว่าหากดื่มมากกว่าวันละ 5 แก้ว จะลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด ช่วยลดการเกิดนิ่ว ลดการเกิดมะเร็ง และยังช่วยลดความอ้วน

 

- ลดคาเฟอีน มีการพบว่าหากดื่มมากกว่าวันละ 4 แก้ว จะมีอัตราการเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และยังเพิ่มโอกาสในการเกิดมะเร็ง

 

3.อยู่ให้เป็น

 

- นอนหลับให้พอเหมาะไม่มากหรือน้อยเกินไป มีการพบว่ายิ่งนอนมากยิ่งทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้มาก การนอนเกินวันละ 8 ชั่วโมง จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ

 

- ลด ละ เลิก สิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียด หาวิธีคลายเครียดด้วยการทำสมาธิ หรือทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส ช่วยทำให้จิตใจสงบ ความดันโลหิตลด เพิ่มภูมิต้านทานมากขึ้น

 

- อยู่ในที่อากาศปลอดโปร่ง มีผลดีต่อสุขภาพ และยังสามารถทำให้จิตใจสงบขึ้นได้

 

- ออกกำลังกายวันละ 30 นาที ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ป้องกันการอุดตันของลิ่มเลือด และยังช่วยลดคอเลสเตอรอล ความดันโลหิต

 

- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางให้เหมาะสมกับผิวพรรณ วัย และฤดูกาล

 

วิธีการที่ว่านี้หากใครทำได้ ไม่เพียงแต่จะเหนี่ยวความสวย ความสาวได้อยู่กับตัวมากที่สุดแล้ว สุขภาพร่างกายยังจะดีเยี่ยม โรคร้ายที่ไม่พึงประสงค์ยังโคจรไปไกลแสนไกล !!

Thursday, December 13, 2007

'การเงิน+สุขภาพ' แผนรับมือวัยเกษียณ น.พ.เฉก ธนะสิริ ประธานชมรมอยู่ 100 ปี-ชีวีมีสุข

น.พ.เฉก ธนะสิริ/สาธิต รังคสิรินอกจากจะต้องวางแผน "การเงิน"
อย่างเป็นระบบแบบแผนและมีเงินเพียงพอแล้ว แผนการรักษา "สุขภาพ" ที่ดี
ก็ต้องวางแผนล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดี
มีความสุขกับการใช้ชีวิตวัย "หลังเกษียณ" เช่นเดียวกัน..
สถิติค่าใช้จ่ายของคนวัยเกษียณชาวสหรัฐอเมริกาถึง 80%
เป็นการจ่ายเพื่อการรักษาพยาบาล ทั้งค่าหมอและค่ายารักษาโรค
นั่นหมายความว่า นอกจากวางแผนการเงินเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณแล้ว
ยังจำเป็นต้องวางแผนในเรื่อง "สุขภาพ" อีกด้วย
ดังตัวอย่างของ..นายแพทย์เฉก ธนะสิริ ผู้ก่อตั้งและประธานชมรมอยู่ 100
ปี-ชีวีมีสุข วันนี้ในวัย 82 ปี ไม่มีโรคประจำตัว และสุขภาพยังแข็งแรง
มีเป้าหมายในชีวิตจะมีชีวิตอยู่ให้ได้ถึง 120 ปี
การวางแผนให้มีสุขภาพที่ดี
ไม่มีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพนั้น..น.พ.เฉก ให้แนวทางไว้ว่า
การที่คนเราจะยืดอายุออกไปให้ยาวนานขึ้น จะต้อง "ออกกำลังกาย"
อย่างสม่ำเสมอ ปรับปรุงเรื่อง "อาหาร"
ตลอดจนปรับสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
จะทำให้ช่วงวัยหนุ่มสาวยืดออกไปถึง 100 ปี หรือมากกว่านั้น
"ความกระชุ่มกระชวยหรือความเป็นหนุ่มเป็นสาวของคนทั่วไปมีเต็มที่เมื่ออายุ
20-40 ปี หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดความเป็นหนุ่มสาวลงมาเรื่อยๆ จนป่วยและตาย
คือมีเวลาหนุ่มสาวเต็มที่เพียง 20 ปี พอเลยอายุ 40 ปี
ก็เริ่มมีโรคภัยประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ไขมันในเลือด
เป็นต้น แต่หากเราปรับปรุงในเรื่องโภชนาการ การกินอยู่ที่เน้นผักและผลไม้
และออกกำลังกายเป็นประจำ ตลอดจนปรับสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นแล้ว
ช่วงความเป็นหนุ่มสาวจะสดชื่นยืนยาวได้ถึง 100% อยู่ได้ไปจนถึงอายุ 100
ปี หรือมากกว่านั้น
แล้วความเป็นหนุ่มสาวจะลดลงกระทั่งตายโดยไม่ป่วยเป็นโรคให้ต้องทรมาน"
น.พ.เฉก กล่าว นอกจากแผนสุขภาพ น.พ.เฉก
ยังมีแนวทางการวางแผนการเงินให้มีความสุขหลังเกษียณด้วยการใช้หลักความ
"พอเพียง" ผสมกับธรรมะ เป็นแนวทางการวางแผนการเงินและใช้ชีวิต
โดยจะต้องมีเงินใช้อย่างเพียงพอจนวันที่ตัวเองตาย
หลักในการหาเงินใช้เงินของน.พ.เฉกจะต้อง หนึ่ง..หาเงินอย่างสุจริต
สอง..รู้จักใช้เงินให้เป็น และสาม..ไม่เป็นหนี้สิน
"นอกจากต้องหาเงินได้มาอย่างสุจริตแล้ว จะต้องรู้จักใช้เงินให้เป็น
โดยต้องควบคุมรายจ่ายให้น้อยกว่ารายรับ ขณะเดียวกันต้องไม่เป็นหนี้สิน
หรืออย่าให้ใช้จ่ายเกินตัว ยกเว้นการเป็นหนี้สินเพื่อการลงทุน
การมีหนี้สินเป็นเรื่องทุกข์ที่สุดของชีวิตคนเรา
ผมจึงยึดหลักความพอเพียงและใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ทั้งความสงบภายในครอบครัว
และการหาทรัพย์ ใช้ทรัพย์ให้เป็น" ในการวางแผนรับเกษียณ น.พ.เฉก บอกว่า
จะต้องเริ่มคิดตั้งแต่วัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีทรัพย์สิน ที่ดิน
หรือไม่มีทรัพย์สมบัติเป็นทุนเดิม เช่น คนทำงานกินเงินเดือน
จะต้องคิดวางแผนให้เร็ว เนื่องจากคนเราจะมีเวลาทำงานถึงอายุ 60 ปี
และหลังจากนั้นจะต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกหลายสิบปี
หากไม่มีเงินไว้รองรับในวัยชรา จะเกิดปัญหาในชีวิตได้
"การวางแผนการเงินและลงทุนของผม เริ่มตั้งแต่ตอนอายุยังน้อย
ผมเป็นคนชอบที่ดิน ซึ่งสมัยก่อนราคายังไม่แพงมาก
ก็ซื้อที่ดินไว้ผืนหนึ่งประมาณ 10 ไร่ เป็นที่ดินซึ่งไม่มีทางออก
มีคนมาขายให้ก็ช่วยซื้อไว้ มาวันนี้ราคาเพิ่มขึ้น 10 เท่า
เนื่องจากมีทางด่วนตัดผ่าน ต่อมาจึงได้จัดสรรขายบางส่วนทำให้ได้กำไร
และนำไปลงทุนในหุ้นบ้าง ส่วนที่ดินที่เหลือก็ให้เช่า" วันนี้ น.พ.เฉก
มีรายได้จากการเก็บกินค่าเช่า ซึ่งเป็นรายได้หลักไว้ใช้จ่ายในยามชรา
รวมถึงการนำเงินไปลงทุนในหุ้นที่จ่ายปันผลดี เช่น หุ้นปูนใหญ่
ตลอดจนลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล "ตอนนี้ผมอายุ 82 ปี ตั้งเป้าไว้ว่าอีก 38
ปี ก็จะถึง 120 ปี มั่นใจว่ารายได้หลักที่ได้จากค่าเช่า
จะทำให้ผมมีกินมีใช้ตลอดอายุที่วางไว้แน่นอน"
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและลงทุน .."วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ"
รองประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย ให้วิธีการวางแผนรับวัยเกษียณไว้ว่า
ควรจะแบ่งเงินออกเป็นหลายๆ ก้อน เช่น
เงินลงทุนระยะยาวเพื่อให้งอกเงยเติบโต
หรือเงินลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเป็นระยะๆ เพื่อไว้เป็นค่าใช้จ่าย
ส่วนจะเลือกลงทุนอย่างไรนั้น วิวรรณบอกว่า
จะต้องพิจารณาความเสี่ยงว่าสามารถรับได้มากน้อยแค่ไหน
เนื่องจากการลงทุนอาจจะผันผวน และแต่ละคนจะรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน
ก่อนที่จะจัดพอร์ตลงทุน วิวรรณให้แนวทางว่า จะต้องพิจารณา 6 ปัจจัย
ประกอบก่อนตัดสินใจลงทุน.. หนึ่ง.."อายุ" วัยเริ่มทำงาน รับเสี่ยงได้มาก
เพราะมีเวลาทำงานมาก คนที่มีอายุมากจะรับความเสี่ยงได้น้อยกว่า
สอง.."ความมั่งคั่งโดยรวม" ถ้ามีเงินออมหลายล้านบาท หากหายไปหนึ่งล้าน
อาจไม่ส่งผลกระทบความเป็นอยู่นัก แต่ถ้าผู้ที่มีเงินออมน้อย
ก็อาจรับเสี่ยงไม่ได้เท่านี้ สาม.."อาชีพมีความมั่นคง" แค่ไหน
หากสามารถรับความเสี่ยงได้สูง อาจเก็บเงินฉุกเฉินไว้เพียง 3 เดือน
แต่ถ้าอาชีพการงานไม่มั่นคง ควรจะเก็บเงินออมสำรอง 6 เดือน "อาชีพดารา
งานหรือรายได้ที่เข้ามาอาจมีความไม่แน่นอน
เขาก็รับความเสี่ยงได้น้อยกว่าคนที่ทำงานประจำ" สี่..พิจารณา
"ภาระการเงินที่มี" ถ้าหากต้องส่งลูกเรียนหนังสือ ผ่อนบ้าน
ก็จะรับความเสี่ยงได้น้อย ห้า.."ระยะเวลาลงทุน"
คนลงทุนระยะยาวจะรับความเสี่ยงได้มากกว่าการลงทุนระยะสั้น
"เงินเก็บสำหรับค่าเทอมของลูก เมื่อนำไปลงทุนอาจรับความเสี่ยงไม่ได้มาก
ก็อาจจะเลือกฝากออมทรัพย์อย่างเดียว
แต่ถ้าเป็นการออมลงทุนเพื่อวัยเกษียณในอีก 20-30 ปีข้างหน้า
จะรับความเสี่ยงได้มากกว่า" และสุดท้าย หก.."ความวิตกกังวลส่วนบุคคล"
วิวรรณบอกว่า ต่อให้มีอายุน้อย ความมั่งคั่งรวมสูง ภาระการเงินไม่มี
แต่หากมีความวิตกกังวลสูง อย่างนี้ก็ไม่ควรลงทุนในสิ่งที่เสี่ยงมาก
ถ้าลงทุนไม่มีความสุข ให้ลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำจะดีกว่า

Friday, December 7, 2007

wellhove.com ผู้จำหน่าย สินค้าของขวัญสำหรับคนสูงอายุ

ประการต่อมา กลุ่มคนยุคเบบี้บูมที่วันเริ่มต้น สู่วัยเกษียณจะก้าวเข้ามาเป็นกลุ่มที่สนใจจะเป็น ผู้ประกอบ

การมากขึ้น โดยเฉพาะจะทำธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มวัยเดียวกัน ความสำเร็จของ

wellhove.com ผู้จำหน่าย สินค้าของขวัญสำหรับคนสูงอายุน่าจะเป็นแบบตัวอย่างที่ดีของความสำเร็จ