Thursday, December 13, 2007

'การเงิน+สุขภาพ' แผนรับมือวัยเกษียณ น.พ.เฉก ธนะสิริ ประธานชมรมอยู่ 100 ปี-ชีวีมีสุข

น.พ.เฉก ธนะสิริ/สาธิต รังคสิรินอกจากจะต้องวางแผน "การเงิน"
อย่างเป็นระบบแบบแผนและมีเงินเพียงพอแล้ว แผนการรักษา "สุขภาพ" ที่ดี
ก็ต้องวางแผนล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดี
มีความสุขกับการใช้ชีวิตวัย "หลังเกษียณ" เช่นเดียวกัน..
สถิติค่าใช้จ่ายของคนวัยเกษียณชาวสหรัฐอเมริกาถึง 80%
เป็นการจ่ายเพื่อการรักษาพยาบาล ทั้งค่าหมอและค่ายารักษาโรค
นั่นหมายความว่า นอกจากวางแผนการเงินเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณแล้ว
ยังจำเป็นต้องวางแผนในเรื่อง "สุขภาพ" อีกด้วย
ดังตัวอย่างของ..นายแพทย์เฉก ธนะสิริ ผู้ก่อตั้งและประธานชมรมอยู่ 100
ปี-ชีวีมีสุข วันนี้ในวัย 82 ปี ไม่มีโรคประจำตัว และสุขภาพยังแข็งแรง
มีเป้าหมายในชีวิตจะมีชีวิตอยู่ให้ได้ถึง 120 ปี
การวางแผนให้มีสุขภาพที่ดี
ไม่มีภาระเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพนั้น..น.พ.เฉก ให้แนวทางไว้ว่า
การที่คนเราจะยืดอายุออกไปให้ยาวนานขึ้น จะต้อง "ออกกำลังกาย"
อย่างสม่ำเสมอ ปรับปรุงเรื่อง "อาหาร"
ตลอดจนปรับสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
จะทำให้ช่วงวัยหนุ่มสาวยืดออกไปถึง 100 ปี หรือมากกว่านั้น
"ความกระชุ่มกระชวยหรือความเป็นหนุ่มเป็นสาวของคนทั่วไปมีเต็มที่เมื่ออายุ
20-40 ปี หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดความเป็นหนุ่มสาวลงมาเรื่อยๆ จนป่วยและตาย
คือมีเวลาหนุ่มสาวเต็มที่เพียง 20 ปี พอเลยอายุ 40 ปี
ก็เริ่มมีโรคภัยประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ ไขมันในเลือด
เป็นต้น แต่หากเราปรับปรุงในเรื่องโภชนาการ การกินอยู่ที่เน้นผักและผลไม้
และออกกำลังกายเป็นประจำ ตลอดจนปรับสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นแล้ว
ช่วงความเป็นหนุ่มสาวจะสดชื่นยืนยาวได้ถึง 100% อยู่ได้ไปจนถึงอายุ 100
ปี หรือมากกว่านั้น
แล้วความเป็นหนุ่มสาวจะลดลงกระทั่งตายโดยไม่ป่วยเป็นโรคให้ต้องทรมาน"
น.พ.เฉก กล่าว นอกจากแผนสุขภาพ น.พ.เฉก
ยังมีแนวทางการวางแผนการเงินให้มีความสุขหลังเกษียณด้วยการใช้หลักความ
"พอเพียง" ผสมกับธรรมะ เป็นแนวทางการวางแผนการเงินและใช้ชีวิต
โดยจะต้องมีเงินใช้อย่างเพียงพอจนวันที่ตัวเองตาย
หลักในการหาเงินใช้เงินของน.พ.เฉกจะต้อง หนึ่ง..หาเงินอย่างสุจริต
สอง..รู้จักใช้เงินให้เป็น และสาม..ไม่เป็นหนี้สิน
"นอกจากต้องหาเงินได้มาอย่างสุจริตแล้ว จะต้องรู้จักใช้เงินให้เป็น
โดยต้องควบคุมรายจ่ายให้น้อยกว่ารายรับ ขณะเดียวกันต้องไม่เป็นหนี้สิน
หรืออย่าให้ใช้จ่ายเกินตัว ยกเว้นการเป็นหนี้สินเพื่อการลงทุน
การมีหนี้สินเป็นเรื่องทุกข์ที่สุดของชีวิตคนเรา
ผมจึงยึดหลักความพอเพียงและใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ทั้งความสงบภายในครอบครัว
และการหาทรัพย์ ใช้ทรัพย์ให้เป็น" ในการวางแผนรับเกษียณ น.พ.เฉก บอกว่า
จะต้องเริ่มคิดตั้งแต่วัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีทรัพย์สิน ที่ดิน
หรือไม่มีทรัพย์สมบัติเป็นทุนเดิม เช่น คนทำงานกินเงินเดือน
จะต้องคิดวางแผนให้เร็ว เนื่องจากคนเราจะมีเวลาทำงานถึงอายุ 60 ปี
และหลังจากนั้นจะต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกหลายสิบปี
หากไม่มีเงินไว้รองรับในวัยชรา จะเกิดปัญหาในชีวิตได้
"การวางแผนการเงินและลงทุนของผม เริ่มตั้งแต่ตอนอายุยังน้อย
ผมเป็นคนชอบที่ดิน ซึ่งสมัยก่อนราคายังไม่แพงมาก
ก็ซื้อที่ดินไว้ผืนหนึ่งประมาณ 10 ไร่ เป็นที่ดินซึ่งไม่มีทางออก
มีคนมาขายให้ก็ช่วยซื้อไว้ มาวันนี้ราคาเพิ่มขึ้น 10 เท่า
เนื่องจากมีทางด่วนตัดผ่าน ต่อมาจึงได้จัดสรรขายบางส่วนทำให้ได้กำไร
และนำไปลงทุนในหุ้นบ้าง ส่วนที่ดินที่เหลือก็ให้เช่า" วันนี้ น.พ.เฉก
มีรายได้จากการเก็บกินค่าเช่า ซึ่งเป็นรายได้หลักไว้ใช้จ่ายในยามชรา
รวมถึงการนำเงินไปลงทุนในหุ้นที่จ่ายปันผลดี เช่น หุ้นปูนใหญ่
ตลอดจนลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล "ตอนนี้ผมอายุ 82 ปี ตั้งเป้าไว้ว่าอีก 38
ปี ก็จะถึง 120 ปี มั่นใจว่ารายได้หลักที่ได้จากค่าเช่า
จะทำให้ผมมีกินมีใช้ตลอดอายุที่วางไว้แน่นอน"
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและลงทุน .."วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ"
รองประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย ให้วิธีการวางแผนรับวัยเกษียณไว้ว่า
ควรจะแบ่งเงินออกเป็นหลายๆ ก้อน เช่น
เงินลงทุนระยะยาวเพื่อให้งอกเงยเติบโต
หรือเงินลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเป็นระยะๆ เพื่อไว้เป็นค่าใช้จ่าย
ส่วนจะเลือกลงทุนอย่างไรนั้น วิวรรณบอกว่า
จะต้องพิจารณาความเสี่ยงว่าสามารถรับได้มากน้อยแค่ไหน
เนื่องจากการลงทุนอาจจะผันผวน และแต่ละคนจะรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน
ก่อนที่จะจัดพอร์ตลงทุน วิวรรณให้แนวทางว่า จะต้องพิจารณา 6 ปัจจัย
ประกอบก่อนตัดสินใจลงทุน.. หนึ่ง.."อายุ" วัยเริ่มทำงาน รับเสี่ยงได้มาก
เพราะมีเวลาทำงานมาก คนที่มีอายุมากจะรับความเสี่ยงได้น้อยกว่า
สอง.."ความมั่งคั่งโดยรวม" ถ้ามีเงินออมหลายล้านบาท หากหายไปหนึ่งล้าน
อาจไม่ส่งผลกระทบความเป็นอยู่นัก แต่ถ้าผู้ที่มีเงินออมน้อย
ก็อาจรับเสี่ยงไม่ได้เท่านี้ สาม.."อาชีพมีความมั่นคง" แค่ไหน
หากสามารถรับความเสี่ยงได้สูง อาจเก็บเงินฉุกเฉินไว้เพียง 3 เดือน
แต่ถ้าอาชีพการงานไม่มั่นคง ควรจะเก็บเงินออมสำรอง 6 เดือน "อาชีพดารา
งานหรือรายได้ที่เข้ามาอาจมีความไม่แน่นอน
เขาก็รับความเสี่ยงได้น้อยกว่าคนที่ทำงานประจำ" สี่..พิจารณา
"ภาระการเงินที่มี" ถ้าหากต้องส่งลูกเรียนหนังสือ ผ่อนบ้าน
ก็จะรับความเสี่ยงได้น้อย ห้า.."ระยะเวลาลงทุน"
คนลงทุนระยะยาวจะรับความเสี่ยงได้มากกว่าการลงทุนระยะสั้น
"เงินเก็บสำหรับค่าเทอมของลูก เมื่อนำไปลงทุนอาจรับความเสี่ยงไม่ได้มาก
ก็อาจจะเลือกฝากออมทรัพย์อย่างเดียว
แต่ถ้าเป็นการออมลงทุนเพื่อวัยเกษียณในอีก 20-30 ปีข้างหน้า
จะรับความเสี่ยงได้มากกว่า" และสุดท้าย หก.."ความวิตกกังวลส่วนบุคคล"
วิวรรณบอกว่า ต่อให้มีอายุน้อย ความมั่งคั่งรวมสูง ภาระการเงินไม่มี
แต่หากมีความวิตกกังวลสูง อย่างนี้ก็ไม่ควรลงทุนในสิ่งที่เสี่ยงมาก
ถ้าลงทุนไม่มีความสุข ให้ลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำจะดีกว่า

No comments: