++++++++++++++++++++++++
นับตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค.จนถึงขณะนี้ ผลกระทบกระจายวง จากปัญหาตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยกู้ลูกค้ามีความน่าเชื่อถือต่ำ หรือซับไพร์ม ยังไม่จบลงง่ายๆ และจะยังคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเร็วนี้นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญ ประเมินว่าพิษร้ายวิกฤติซับไพร์ม ลงลึกถึงพนักงานเกี่ยวข้องธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กับก่อสร้าง ลามถึงภาคการเงินของอเมริกากับอังกฤษ โดยบุคลากรธุรกิจทั้ง 3 ประเภท ตกงานแล้วอย่างน้อยแสนคน โดยตัวเลขจะเพิ่มกว่านี้อาจทำสถิติสูงกว่าการปลดพนักงานอุตสาหกรรมการบินหลังเหตุวินาศกรรม 11 ก.ย.
ทั้งนี้ แชลเลนเจอร์ เกรย์ แอนด์ คริสต์มาส อิงค์. บริษัทจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแรงงานชั้นนำของโลกจากสหรัฐ ให้รายละเอียดว่า จากการประกาศปลดคนงานของบริษัททำธุรกิจปล่อยกู้เพื่อที่อยู่อาศัย และตัวเลขพนักงานบริษัทปล่อยกู้หรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหลายแห่งที่ตกงานนับจากต้นปี 2550 มีจำนวนรวมกันกว่า 4 หมื่นคนแล้ว และมีแนวโน้มตัวเลขจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ในระยะใกล้
ตัวเลขคนตกงานในธุรกิจทั้ง 3 กลุ่มของสหรัฐคือ อสังหาริมทรัพย์ การเงินและการก่อสร้าง ถือเป็นการล้มครั้งใหญ่อีกครั้งของตลาดแรงงานสหรัฐ ซึ่งเป็นสถานการณ์อันตรายน่ากลัวใกล้เคียงหรืออาจมากกว่าการปลดคนงานจำนวนมากมายในอุตสาหกรรมการบิน หลังเกิดเหตุวินาศกรรมก่อการร้าย จี้เครื่องบินโดยสารชนอาคารเวิลด์เทรดเมื่อวันที่ 11 ก.ย.44 ซึ่งเป็นเหตุให้มีคนตกงานนับแสนคน
หากจะมองปัญหาคนตกงานในสหรัฐและอังกฤษ ว่าเป็นเรื่องไม่ไกลตัวก็คงจะหนีไม่พ้นประเด็นที่ว่า เรามีพี่น้องหรือญาติๆ ซึ่งมีอายุงานหรืออยู่ในวัยใกล้เกษียณในสหรัฐ ประกอบอาชีพหรือมีอาชีพรับจ้าง ที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบโดยตรงหรือทางอ้อม จากปัญหาตลาดสินเชื่อบ้านในสหรัฐขณะนี้หรือไม่
ถ้าคำตอบคือใช่ เนื้อหาเรื่อง "10 คนดังสูงวัยกับเส้นทางเปลี่ยนอาชีพ" ของ อี.ซี. ฮอฟฟ์แมน จากซีเอ็นเอ็น มันนี่ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ญาติมิตรเมืองไทย นำไปเล่าสู่กันฟังให้กำลังใจคนทำงานหรือเจ้าของธุรกิจคนไทยสูงวัยในสหรัฐ ที่ได้รับผลพวงความเสียหายจากซับไพร์ม ได้ฉุกคิดเร่งรีบปรับตัว เปลี่ยนแนวทางไปทำธุรกิจหรืออาชีพอื่น ที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถรอดพ้นจากปัญหาซับไพร์มฉุดเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวได้
ฮอฟฟ์แมน ยอมรับว่า คนสูงวัยอยากเปลี่ยนงานเพราะต้องการจะเปลี่ยน และทำเพื่อความสุขในบั้นปลายของชีวิต แต่อีกหลายคนซึ่งอาจรวมทั้งคนไทยในสหรัฐ ที่กำลังได้รับผลกระทบจากซับไพร์ม การย่ำทำงานอาชีพเดิม ย่อมไม่ใช่เรื่องดีอย่างแน่นอน
ดังนั้น เพื่อเป็นกรณีตัวอย่าง และลู่ทางที่คนดังหลายคนในสหรัฐ สามารถเปลี่ยนเส้นทางอาชีพเมื่ออายุย่างเข้าเลข 5 เลข 6 แล้ว น่าจะเป็นความสำเร็จที่เป็นแรงจูงใจให้ผู้สูงวัยคนไทยทั้งใน และต่างประเทศ อยากหางานทำ ให้เหมาะสมกับบั้นปลายชีวิตที่ยังไม่ถอดใจหรือหมดไฟง่ายๆ
แต่ด้วยเนื้อที่มีจำกัด เราจึงได้คัดบุคคลดังของสหรัฐ ที่ประสบความสำเร็จกับงานอาชีพหลังเกษียณ มานำเสนอเพียงบางส่วน ซึ่งคนไทยอาจรู้จักสามารถนำข้อมูลมาปรับใช้ได้มากที่สุด
"มาร์ธา สจ๊วต"
ปัจจุบันสจ๊วตในวัย 65 ปี เป็นตัวอย่างของความสำเร็จแรกในชีวิตช่วงท้ายๆ สจ๊วตเป็นสตรีสหรัฐชื่อดังจากข่าวอื้อฉาวเมื่อถูกกล่าวหาว่าทำอินไซเดอร์ในอาชีพการเงิน จนชีวิตช่วงสั้นๆ ช่วงหนึ่ง ได้ลองเข้าไปสัมผัสความเป็นอยู่ในเรือนจำสหรัฐ ซึ่งข่าวของสจ๊วตนั้นคนไทยในวงการเงินคงเคยได้ยิน และทำให้รู้จักชื่อสจ๊วตกันอยู่บ้าง
จากงานอาชีพแรกเริ่มคือ นางแบบมานาน 6 ปี ตั้งแต่ปี 2502-2508 สจ๊วตเปลี่ยนไปทำงานเป็นนายหน้าค้าหลักทรัพย์ หรือที่เรียกกันว่าโบรกเกอร์ ก่อนมาจับงานฝ่ายจัดเตรียมอาหารในปี 2519
ด้วยประสบการณ์ผ่านงานอาชีพมาไม่น้อย ในที่สุดสจ๊วตมองหาอาชีพมั่นคงอยู่ได้ด้วยตัวเองในระยะยาว คือ การฉีกแนวไปทำธุรกิจสิ่งพิมพ์และธุรกิจบันเทิง ที่อิงกับประสบการณ์การเงิน นางแบบและรสนิยมการใช้ชีวิตของตัวเอง
นิตยสารชื่อ "มาร์ธา สจ๊วต ไลฟ์วิ่ง" จึงถือกำเนิดขึ้นมาในปี 2533 และเป็นที่มาของ มูลนิธิมาร์ธา สจ๊วต ไลฟ์วิ่ง ออมนิมีเดีย ในปี 2540 สจ๊วตยังเป็นเจ้าของงานเขียนเป็นหนังสือกว่า 25 เล่ม
สจ๊วตยังนำชื่อเสียงกับประสบการณ์ ร่วมธุรกิจกับบริษัทผลิตสินค้าหลากหลายประเภท ตั้งแต่เสื้อผ้าลินินติดยี่ห้อมาร์ธา สจ๊วต ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์สไตล์มาร์ธา สจ๊วต รวมถึงการใช้เวลาว่างทุกวันนี้จัดรายการทีวีกับวิทยุด้วย
"ไมเคิล บลูมเบิร์ก"
กว่าจะถึงวันนี้ในวัย 65 ปี บลูมเบิร์กเก็บเกี่ยวประสบการณ์การเป็นวาณิชธนากรและนายธนาคาร ด้วยการร่วมงานกับ ซาโลมอน บราเดอร์ส มานาน 15 ปี ในช่วงปี 2509-2524 และต้องออกจากงานในแผนกตรวจสอบข้อมูลเทคโนโลยีหรือไอที
บลูมเบิร์ก อาศัยวิสัยทัศน์ สร้างช่องทางให้ข้อมูลเป็นกลางมีประสิทธิภาพและโปร่งใส ให้แก่ผู้ซื้อกับผู้ขายหลักทรัพย์ทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดตราสารหนี้ ด้วยการก่อตั้ง บลูมเบิร์ก แอลพี. ในปี 2524
นับจากนั้นเป็นต้นมา บลูมเบิร์ก แอลพี. สามารถขยายกิจการยกระดับเป็นสำนักข่าวให้ข้อมูลการเงิน มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับโลก มีพนักงาน 9,000 คนใน 130 ประเทศ แต่ปัจจุบันบลูมเบิร์กแยกตัวออกมาจากกิจการที่เขาเป็นผู้ก่อตั้ง
เพราะตั้งแต่ปี 2545 บลูมเบิร์กประสบความสำเร็จจากการเบนเข็มสู่อาชีพใหม่ ด้วยการชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก และช่วงที่ผ่านมา บลูมเบิร์กพูดเสมอว่า เขาจะไม่กลับไปทำงานกับ บลูมเบิร์ก แอลพี.อีก หลังจากตัดสินใจหยุดอาชีพรับใช้ประชาชนในตำแหน่งนายกเทศมนตรีแล้ว
ล่าสุดบลูมเบิร์กประกาศลาออกจากพรรครีพับลิกัน จนทำให้ผู้คนในวงการการเมืองสงสัยกันว่า บลูมเบิร์กอาจสนใจลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2551
"โจซี นาโทริ"
เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการเปลี่ยนอาชีพ ในช่วงบั้นปลายของชีวิตที่น่าสนใจ เพราะนาโทริในวัย 60 ตอนนี้ ถือเป็นต้นแบบของคนในวงการการเงินการธนาคาร ที่หันเหอาชีพและชีวิต ทำในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ
นาโทริทำงานเป็นวาณิชธนากรตั้งแต่ปี 2514-2518 และนับเป็นผู้หญิงคนแรกในวงการวาณิชธนกิจสหรัฐ ที่สามารถทำงานได้ดีในระยะเวลาเพียง 2 ปี จนได้นั่งตำแหน่งรองประธาน และร่วมงานกับ เมอร์ริล ลินช์ อีกระยะหนึ่ง
ในวัยเด็กเพียง 9 ขวบนาโทริ ซึ่งถือสัญชาติฟิลิปปินส์ มีโอกาสแสดงฝีมือเดียวเปียโนในงานคอนเสิร์ต มะนิลา ฟิลฮาร์โมนิค ออร์เคสตรา ส่วนการศึกษาทางวิชาการ นาโทริจบสาขาเศรษฐศาสตร์จากแมนฮัตตัน วิลล์ คอลเลจในนิวยอร์ก ก่อนเริ่มอาชีพแรกในกับ เมอร์ริล ลินช์ วาณิชธนกิจชั้นนำของสหรัฐ
แม้นาโทริมีโอกาสก้าวหน้าในงานวาณิชธนกิจ แต่เธอกลับเปลี่ยนใจอยากมีความสุขกับการงานที่ตัวเองเลือกได้ บนพื้นฐานความชื่นชอบทางดนตรีและศิลปะ ด้วยการลาออกจาก เมอร์ริล ลินช์ ขณะที่นั่งตำแหน่งสุดท้ายเป็นรองประธานฝ่ายวาณิชธนกิจในปี 2515 เพื่อก่อตั้งธุรกิจผลิตชุดชั้นในราคาแพงสวยหรูสำหรับสตรีมีรายได้สูง
นับจากนั้นเป็นต้นมา นาโทริ คอมปานี ก็ถือกำเนิดโดยเริ่มจากการทำธุรกิจในห้องนั่งเล่นที่บ้านของตัวเอง และธุรกิจสามารถเติบโตด้วยดีตลอดมา ปัจจุบันนาโทริคือ ผู้ก่อตั้ง และมีตำแหน่งประธานกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ นาโทริ คอมปานี
"อัล กอร์ จูเนียร์"
คนดังสูงวัยกรณีตัวอย่างสุดท้ายนี้ มีชื่อเป็นที่รู้จักของคนไทยอยู่บ้างไม่มากก็น้อย เพราะเขาคือ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ ในสมัยที่บิล คลินตัน ยังอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดี
กอร์มีอดีตที่โชกโชนไม่น้อยก่อนจะลงตัวอยู่กับอาชีพในแวดวงบันเทิง ในวัยหนุ่มหลังจากจบการศึกษาระดับเกียรตินิยมด้านการปกครอง จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปี 2512 เขาได้อาสาสมัครเข้ากองทัพสหรัฐ และไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม
หลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง กอร์บินกลับสหรัฐพร้อมกับเริ่มต้นอาชีพนักข่าวกับ เดอะ เทนเนสเซียน จากนั้นไม่กี่ปีในปี 2519 เขาเบนเข็มอาชีพสู่วงการการเมือง
โดยกอร์ได้รับเลือกตั้งให้เป็นหนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐจากมลรัฐเทนเนสซี และเมื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์การเมืองได้มากพอ เขาได้ร่วมลงแข่งขันชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับคลินตัน ก่อนจะยุติอาชีพทางการเมือง หลังพ่ายแพ้ให้กับจอร์จ ดับเบิลยู บุชในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2543
แต่ด้วยชื่อเสียงหน้าตาและบุคลิก เป็นที่ชื่นชอบของคนสหรัฐ อดีตรองประธานาธิบดีผู้นี้ได้ผันตัวเองไปทำธุรกิจผลิตรายการโทรทัศนโดยก่อตั้งบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์ชื่อ Current TV
ปัจจุบันด้วยวัย 59 ปี กอร์นั่งตำแหน่งประธานของ Current TV ผลิตเนื้อหารายการโทรทัศน์และสารคดี ซึ่งเคยมีสารคดีรับรางวัลออสการ์มาแล้ว คือ An Inconvenient Truth กอร์ยังติดทำเนียบบุคคลดัง ที่เป็นเจ้าของงานเขียน หรือมีหนังสือยอดนิยมขายดีในสหรัฐด้วย